ครูหนี้บาน-ชีวิตพัง เพราะค้ำกู้ "กยศ." กูรูแนะ ฟ้อง-หักเงิน-แก้เผ็ด "ศิษย์ทรพี"


ไร้สำนึก!! ลูกศิษย์ 30 คน คว่ำบาตรไม่ใช้หนี้กยศ. ช้ำครูใจดี ค้ำประกันจนถูกยึดที่ดิน ต่ออนาคตเด็กจนลืมอนาคตของตัวเอง จ่ายเงินให้จนเป็นหนี้ สังคมประณามทำไมทำแบบนี้กับแม่พิมพ์ของชาติ ล่าสุดกระทรวงการคลังประกาศ อนุญาตให้หักจากเงินเดือน!!

รักศิษย์จนติดหนี้

“ลูกศิษย์ ทรยศ ครู” กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ค “Tikky CM Peo” ออกมาแชร์เรื่องราวครูคนหนึ่งในกำแพงเพชร ได้ค้ำประกันเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้นักเรียนกว่า60คน แต่มีนักเรียนกว่า30คนไม่ยอมชำระหนี้ตามข้อตกลง ซึ่งมียอดหนี้เป็นจำนวนเงิน1ล้านบาท ทำให้ครูต้องถูกยึดบ้าน และที่ดิน

“ครูหวังดีช่วยค้ำประกันเงินกู้ กยศ.นักเรียนกว่า 60 คน หวังให้ได้เรียนต่อ สุดท้ายนักเรียนกว่า 30 คน เบี้ยวหนี้รวมเกือบล้าน ครูถูก กยศ. ฟ้อง ศาลสั่งยึดที่ดิน ยึดบ้านของครู แต่นักเรียนกลับเฉย แบบไม่รู้สึกรู้สาอะไร เรื่องจริงที่ผมได้คุยกับครูท่านหนึ่ง”

เมื่อตรวจสอบพบว่า เป็นเรื่องราวของ “ครูวิภา บานเย็น” ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ20ปีที่แล้ว ครูได้อาสาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กยศ. ให้แก่นักเรียน หวังให้เด็กได้เรียนต่อจนจบในชั้นสูงๆ และมีอนาคตที่ดี

ย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ.2551มีหนังสือจากศาลให้ไปไกล่เกลี่ยในการชำระหนี้ ครูวิภาในฐานะผู้ค้ำก็ต้องไปให้การต่อศาล มีนักเรียนบางส่วน ได้ชำระหนี้ตามที่ศาลสั่ง


จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ครูวิภาคิดว่าเรื่องน่าจะจบแล้ว อยู่ๆมีเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี นำป้ายคำสั่งบังคับคดีมายึดบ้าน และที่ดินของครูวิภา โดยมีข้อความว่า “บ้านและที่ดินถูกยึด ห้ามบุคคลเข้ามาดำเนินการใดๆ” ซึ่งตัวครูก็ไม่ทราบมาก่อนว่าเหตุใดถึงต้องมายึดทรัพย์ ยึดที่ดิน ที่เป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่พ่อแม่มอบให้

ด้วยความสงสัย และตัวเองก็ได้รับความเดือดร้อน จึงได้ติดต่อไปยัง เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีก็ทราบความว่าครูได้ค้ำประกันเงินกู้ กยศ. ให้แก่นักเรียนเมื่อหลายปีก่อน และมีนักเรียนกว่า 30 คน เมื่อจบมา ไม่ยอมชำระหนี้กองทุน กยศ. มูลหนี้รวม เกือบหนึ่งล้าน รวมดอกเบี้ย ค่าปรับ มหาศาลทำให้ กยศ. ต้องยื่นฟ้องศาล จำนวน 30 คดี

หลังจากนั้นจึงได้เดินทางไปติดต่อประสานงานที่สำนักงานกองทุน กยศ. เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูล แต่ก็ได้รับการชี้แจงเพียงว่าต้องชำระหนี้เพื่อไม่ให้ถูกยึดทรัพย์สิน บ้านและที่ดิน จึงชำระเงินให้แก่กองทน กยศ.เป็นจำนวนเงินกว่า 90,000 บาท เพื่อให้พ้นจากการถูกยึดทรัพย์สินดังกล่าว เนื่องจากทรัพย์สินของครูมีมูลค่าร่วม 2 ล้านบาท แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่ายังมีผู้กู้อีก 26 ราย ที่ยังไม่ดำเนินการชำระหนี้ และจะต้องถูกออกหมายศาลบังคับคดีเช่นกัน

ล่าสุดครูวิภาได้ออกมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านสื่อมวลชนอีกครั้ง ว่าเธอพยายามติดต่อหาลูกศิษย์ทั้ง 30 คน ซึ่งบางคนไม่สามารถติดต่อได้ บางคนบอกว่าไม่มีเงินชำระหนี้  จึงต้องชำระเงินให้ลูกศิษย์ไปแล้ว 4 คน เป็นเงินกว่า 90,000 บาท ตอนนี้ได้รับความเดือดร้อน และมีความเครียดอยากให้นักเรียนที่กู้ยืมกยศ.ออกมาชำระหนี้ทั้งหมด

“ปัจจุบันทุกคนต่างมีหน้าที่การงานทำกันแล้ว อายุ30กว่าแล้ว แต่บางรายก็ยังไม่ดำเนินการนำเงินมาชำระ และหลายรายที่ติดต่อไม่ได้ จึงขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะตนเองไม่สามารถรับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดได้

และขอร้องให้นักเรียนที่กู้เงินไป ขอให้เห็นใจครู ขอให้ติดต่อกลับหาวิธีการชำระหนี้สินที่นักเรียนกู้ไปเพื่อการศึกษา เพื่ออนาคตของนักเรียนเอง แต่ครูซึ่งไม่ได้รับประโยชน์อะไรด้วยเกี่ยวกับเงินกู้เพื่อการศึกษา ได้แต่เซ็นค้ำประกันช่วยนักเรียน เพื่อเห็นว่าจะทำให้นักเรียนได้มีอนาคตทางการศึกษาที่ดี แต่กลับเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจึงทำให้ครูเดือดร้อนมาก"

กูรูแนะ ฟ้องร้องเท่านั้นที่จะช่วยครูได้ !!


หลังจากเรื่องราวของครูคนดังกล่าว ได้แพร่ไปทางโซเชียลฯ ด้านชาวเน็ตก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก โดยไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อยืมเงินไปใช้แล้ว ก็ควรกลับมาชดใช้ ไม่ควรปล่อยให้ครูต้องมาเดือดร้อนแทนแบบนี้

“สาเหตุส่วนหนึ่งที่คนในสังคมมักจะไม่ช่วยเหลือพึ่งพากัน ก็เพราะมีคนประเภทนี้อยู่เยอะนี้ละครับตอนเดือดร้อน ก็คอยพึ่งพาอาศัยคนอื่น ขอร้องคนอื่นให้ช่วยเหลือ แต่กลับไม่คิดรับผิดชอบอะไร ผลักภาระไปให้คนที่ช่วยเหลือทุกอย่าง เพื่อเอาตัวเองให้รอดไว้ก่อน"

“ถามอีกอย่างครับ กยศ.ทำงานยังไงถึงมาเล่นคนค้ำก่อน? ถ้าครูยังหาตัวเจอทำไม กยศ. หาไม่เจอ?? ”

“แม่สามีก็ค้ำประกัน กยศ. ให้ลูกศิษย์แล้ว เพราะสงสาร อยากช่วยเหลือลูกศิษย์ สุดท้ายเรียนจบแล้วเค้าไม่ยอมส่งค่ะ แม่ต้องส่งเองมาหลายปี จนทนไม่ไหว หาเบอร์ โทร.ไปรับ ไปหา หนี ไม่เคยเจอ สุดท้ายเราประกาศตามหาตัวในเพจประจำจังหวัดทุกเพจเลย เรามีหลักฐานการชำระเงินที่แม่ต้องจ่ายแทนทุกเดือน มีชื่อนามสกุลพร้อม จนเจ้าตัวต้องอินบ็อกซ์มาขอให้ลบ และจะชำระหนี้เอง + ชำระหนี้คืนแม่ด้วย (อ่านแล้วขึ้นด้วย) "

สอดคล้องกับเพจ'Drama-addict' ผู้ที่มีอิทธิพลในโซเชียลฯก็ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยมีข้อความว่าไม่เห็นด้วย ที่ครูจะโดนโกงแบบนี้ รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม แนะให้ฝ่ายที่คัดคนเข้ามาทำงานให้ตรวจสอบประวัติว่าติดหนี้ หรือไม่ติดหนี้กยศ. และหากยังไม่จ่ายหนี้ก็ให้ติดBlacklist เพื่อป้องกันบริษัทไม่ให้ถูกโกง

ทั้งนี้จากการค้นข้อมูลของทีมข่าวได้พบว่ามีคนให้ความสนใจกับกรณีกู้ยืมกยศ.เป็นจำนวนมาก หลายคนสงสัยว่าครูคนดังกล่าวจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ มีกฎหมาย และวิธีที่สามารถช่วยเหลือครูได้อย่างไร ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงได้ติดต่อไปยัง ทนายรัชพล ศิริสาคร ทนายความชื่อดัง เจ้าของเพจสายตรงกฎหมาย

โดยทนายรายดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า มีกฎหมายที่จะสามารถช่วยเหลือครูวิภาได้ คิดว่าคนที่เป็นลูกหนี้ ก็ควรทยอยจ่ายเงิน ถ้าไม่มีตอนนี้ก็ควรจะหามาจ่าย ไม่ก็ไปไกลเกลี่ย เพราะว่าการไม่ชำระหนี้นั้นมันก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะเราเอาเงินคนอื่นมา

“มีกฎหมายรองรับนะครับ เป็นกฎหมายแพ่ง ในกรณีครูเป็นค้ำ แต่ลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายเงิน คนค้ำก็ต้องจ่ายแทนไปก่อน พอหลังจากนั้นสามารถไปฟ้อง ไปเรียกเงินคืนจากลูกหนี้ได้

ถ้าหากไม่ยอมจ่ายต้องไปฟ้องศาล เพื่อบังคับให้นำเงินมาจ่าย หรือไปยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดี ทำได้ก็แค่เรียกค่าเสียหาย แล้วก็เรียกค่าดอกเบี้ย ร้อยละ7.5 ต่อปี ไม่สามารถนำเขาเข้าคุกได้ ต้องตกลงกันเอง

ทั้งนี้กยศ.เป็นนโยบายของรัฐบาลนะครับ คือจริงๆแล้วเขาจะช่วยเหลือ แต่พวกลูกหนี้มันก็เบี้ยวกันหมด ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ วิธีแก้คือต้องใช้มาตรการเด็ดขาดก็คือฟ้อง และบังคับคดีอย่างจริงจัง คือถ้าใครมีทรัพย์สินอะไรก็ตามยึดแบบเด็ดขาด”

อาชญากรรมดำดิน เอล ชาโป กุซมัน

งานรัฐสามารถหักเงินได้ เพื่อชำระหนี้เงินคืน กยศ.

“ข้อที่1ในประกาศนี้ 'กองทุน' หมายความว่ากองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐

'เงินกู้ยืม' หมายความว่าเงินกู้ยืมตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐

ข้อที่2 ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา๔๐(๑)แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรม สำนักงาน หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐตามกฎหมายหักเงินได้พึงประเมินของราชการและลูกจ้างประจำสังกัดซึ่งเป็นผู้กู้ยืมเงิน ตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ แล้วนำส่งผ่านระบบของกรมบัญชีกลางตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการจ่ายเงินบางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินดังกล่าวให้กรมทรัพยากรผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย(จำกัด) เพื่อรับชำระเงินคืนกองทุนเงินให้ยืมเพื่อการศึกษา ”